วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Active Learning

Active Learning คือกระบวนการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องได้มีโอกาสลงมือกระทำมากกว่าการฟังเพียงอย่างเดียว ต้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้การเรียนรู้โดยการอ่าน, การเขียน, การโต้ตอบ, และการวิเคราะห์ปัญหา อีกทั้งให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง ได้แก่ การวิเคราะห์, การสังเคราะห์, และการประเมินค่า ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า Active Learning คือกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำและได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป(Bonwell, 1991) เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน 2 ประการคือ 1) การเรียนรู้เป็นความพยายามโดยธรรมชาติของมนุษย์, และ 2) แต่ละบุคคลมีแนวทางในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน(Meyers and Jones, 1993) โดยผู้เรียนจะถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้(receive) ไปสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้
(co-creators)( Fedler and Brent, 1996) 
ลักษณะของ Active Learning
ไชยยศ เรืองสุวรรณ (มปป.) ได้อธิบายถึงลักษณะสำคัญของการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ดังนี้
1.     เป็นการเรียนการสอนที่พัฒนาศักยภาพทางสมอง ได้แก่ การคิด การแก้ปัญหา การแก้ปัญหาและการนําความรู้ไปประยุกต์ใช้
2.     เป็นการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสใหผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้สูงสุด
3.     ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้และจัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง
4.     ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ การสร้างปฎิสัมพันธ์ร่วมกัน และร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขัน
5.     ผู้เรียนได้เรียนรู้ความรับผิดชอบร่วมกัน การมีวินัยในการทํางาน และการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
6.     เป็นกระบวนการสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนอ่าน พูด ฟัง คิดอย่างลุ่มลึก ผู้เรียนจะเป็นผู้จัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง
7.     เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนเน้นทักษะการคิดขั้นสูง
8.     เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนบูรณาการข้อมูล, ข่าวสาร, สารสนเทศ, และหลักการสู่การสร้างความคิดรวบยอดความคิดรวบยอด
9.     ผู้สอนจะเป็นผู้อํานวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง
10.ความรู้เกิดจากประสบการณ์ การสร้างองค์ความรู้ และการสรุปทบทวนของผู้เรียน
บทบาทของครู กับ Active Learning
ณัชนัน แก้วชัยเจริญกิจ (2550) ได้กล่าวถึงบทบาทของครูผู้สอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางของ Active Learning ดังนี้
1.     จัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน กิจกรรมต้องสะท้อนความต้องการในการพัฒนาผู้เรียนและเน้นการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงของผู้เรียน
2.     สร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วม และการเจรจาโต้ตอบที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้สอนและเพื่อนในชั้นเรียน
3.     จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เป็นพลวัต ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมรวมทั้งกระตุ้นให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียนรู้
4.     จัดสภาพการเรียนรู้แบบร่วมมือ ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือในกลุ่มผู้เรียน
5.     จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ท้าทาย และให้โอกาสผู้เรียนได้รับวิธีการสอนที่หลากหลาย
6.     วางแผนเกี่ยวกับเวลาในจัดการเรียนการสอนอย่างชัดเจน ทั้งในส่วนของเนื้อหา และกิจกรรม
7.     ครูผู้สอนต้องใจกว้าง ยอมรับในความสามารถในการแสดงออก และความคิดเของที่ผู้เรียน
รูปแบบของ Active Learning
การจัดการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งสามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกระดับ ทั้งการเรียนรู้เป็นรายบุคคล, การเรียนรู้แบบกลุ่มเล็ก, และการเรียนรู้แบบกลุ่มใหญ  McKinney (2008) ได้เสนอรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้ดี ได้แก่
1.     การเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-Pair-Share) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนคิดเกี่ยวกับประเด็นที่กำหนดคนเดียว 2-3 นาที (Think) จากนั้นให้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนอีกคน 3-5 นาที (Pair) และนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด (Share)
2.     การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative learning group) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยจัดกลุ่มๆ ละ 3-6 คน
3.     การเรียนรู้แบบทบทวนโดยผู้เรียน (Student-led review sessions) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้และพิจารณาข้อสงสัยต่าง ๆ ในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ โดยครูจะคอยช่วยเหลือกรณีที่มีปัญหา
4.     การเรียนรู้แบบใช้เกม (Games) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนนำเกมเข้าบูรณาการในการเรียนการสอน ซึ่งใช้ได้ทั้งในขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน, การสอน, การมอบหมายงาน, และหรือขั้นการประเมินผล
5.     การเรียนรู้แบบวิเคราะห์วีดีโอ (Analysis or reactions to videos) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ดูวีดีโอ 5-20 นาที แล้วให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น หรือสะท้อนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ดู อาจโดยวิธีการพูดโต้ตอบกัน การเขียน หรือ การร่วมกันสรุปเป็นรายกลุ่ม
6.     การเรียนรู้แบบโต้วาที (Student debates) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนได้นำเสนอข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อยืนยันแนวคิดของตนเองหรือกลุ่ม
7.     การเรียนรู้แบบผู้เรียนสร้างแบบทดสอบ (Student generated exam questions) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างแบบทดสอบจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว
8.     การเรียนรู้แบบกระบวนการวิจัย (Mini-research proposals or project) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่อิงกระบวนการวิจัย โดยให้ผู้เรียนกำหนดหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้, วางแผนการเรียน, เรียนรู้ตามแผน, สรุปความรู้หรือสร้างผลงาน, และสะท้อนความคิดในสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรืออาจเรียกว่าการสอนแบบโครงงาน(project-based learning) หรือ การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน(problem-based learning)
9.     การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Analyze case studies) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้อ่านกรณีตัวอย่างที่ต้องการศึกษา จากนั้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือแนวทางแก้ปัญหาภายในกลุ่ม แล้วนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด
10.การเรียนรู้แบบการเขียนบันทึก (Keeping journals or logs) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ได้พบเห็น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งเสนอความคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึกที่เขียน
11.การเรียนรู้แบบการเขียนจดหมายข่าว (Write and produce a newsletter) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนร่วมกันผลิตจดหมายข่าว อันประกอบด้วย บทความ ข้อมูลสารสนเทศ ข่าวสาร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วแจกจ่ายไปยังบุคคลอื่นๆ
12.การเรียนรู้แบบแผนผังความคิด (Concept mapping) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนออกแบบแผนผังความคิด เพื่อนำเสนอความคิดรวบยอด และความเชื่อมโยงกันของกรอบความคิด โดยการใช้เส้นเป็นตัวเชื่อมโยง อาจจัดทำเป็นรายบุคคลหรืองานกลุ่ม แล้วนำเสนอผลงานต่อผู้เรียนอื่นๆ จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคนอื่นได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

คุณครูทั้งหลายคงคุ้นหูและคุ้นเคยกับ การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กันเป็นอย่างดี ในที่นี้จึงใคร่อยากนำมากล่าวอ้างไว้เช่นกัน
     กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หมายถึง การจัดการศึกษาที่ยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด โดยกระบวนการจัดการศึกษาจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
        รูปแบบการจัดการเรียนรู้ในระดับการอุดมศึกษาตามแนวทางเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งมุ่งพัฒนาความรู้และทักษะทางวิชาชีพ ทักษะชีวิตและทักษะสังคม มีปรากฏในวงการการศึกษาไทยหลายรูปแบบดังนี้
        1) การเรียนรู้จากกรณีปัญหา (Problem-based Learning: PBL) เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนควบคุมการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนคิดและดำเนินการเรียนรู้ กำหนดวัตถุประสงค์และเลือกแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยผู้สอนเป็นผู้ให้คำแนะนำ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแก้ปัญหามากกว่าการจำเนื้อหาข้อเท็จจริง เป็นการส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่มและพัฒนาทักษะทางสังคม ซึ่งวิธีการนี้จะทำได้ดีในการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เพราะผู้เรียนมีระดับความสามารถทางการคิดและการดำเนินการด้วยตนเองได้ดี
        เงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ประกอบด้วย ความรู้เดิมของผู้เรียน ทำให้เกิดความเข้าใจข้อมูลใหม่ได้ การจัดสถานการณ์ที่เหมือนจริง ส่งเสริมการแสดงออกและการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้โอกาสผู้เรียนได้ไตร่ตรองข้อมูลอย่างลึกซึ้ง ทำให้ผู้เรียนตอบคำถาม จดบันทึก สอนเพื่อน สรุป วิพากษ์วิจารณ์สมมติฐานที่ได้ตั้งไว้ได้ดี
       
2) การเรียนรู้เป็นรายบุคคล (Individual study) เนื่องจากผู้เรียนแต่ละบุคคลมีความสามารถในการเรียนรู้ และความสนใจในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีเทคนิคหลายวิธี เพื่อช่วยให้การจัดการเรียนในกลุ่มใหญ่สามารถตอบสนองผู้เรียนแต่ละคนที่แตกต่างกันได้ด้วย เช่น
        ก. เทคนิคการใช้ Concept mapping ที่มีหลักการใช้ตรวจสอบความคิดของผู้เรียนว่าคิดอะไรเข้าใจสิ่งที่เรียนอย่างไรแล้วแสดงออกมาเป็นกราฟิก
        ข. เทคนิค Learning Contracts คือ สัญญาที่ผู้เรียนกับผู้สอนร่วมกันกำหนด เพื่อใช้เป็นหลักยึดในการเรียนว่าจะเรียนอะไร อย่างไร เวลาใด ใช้เกณฑ์อะไรประเมิน
        ค. เทคนิค Know -Want-Learned ใช้เชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ ผสมผสานกับการใช้ mapping ความรู้เดิม เทคนิคการรายงานหน้าชั้นที่ให้ผู้เรียนไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมานำเสนอหน้าชั้นซึ่งอาจมีกิจกรรมทดสอบผู้ฟังด้วย
        ง. เทคนิคกระบวนการกลุ่ม (Group Process) เป็นการเรียนที่ทำให้ผู้เรียนได้ร่วมมือกันแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดซึ่งกันและกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์
        3) การเรียนรู้แบบสรรคนิยม (Constructivism) การเรียนรู้แบบนี้มีความเชื่อพื้นฐานว่า "ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้โดยการอาศัยประสบการณ์แห่งชีวิตที่ได้รับเพื่อค้นหาความจริง โดยมีรากฐานจากทฤษฎีจิตวิทยาและปรัชญาการศึกษาที่หลากหลาย ซึ่งนักทฤษฎีสรรคนิยมได้ประยุกต์ทฤษฎีจิตวิทยาและปรัชญาการศึกษาดังกล่าวในรูปแบบและมุมมองใหม่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
        ก. กลุ่มที่เน้นกระบวนการรู้คิดในตัวบุคคล (radical constructivism or personal Constructivism or cognitive oriented constructivist theories) เป็นกลุ่มที่เน้นการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นรายบุคคล โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนรู้วิธีเรียนและรู้วิธีคิด เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
        ข. กลุ่มที่เน้นการสร้างความรู้โดยอาศัยปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social constructivism or socially oriented constructivist theories) เป็นกลุ่มที่เน้นว่า ความรู้ คือ ผลผลิตทางสังคมโดยมีข้อตกลงเบื้องต้นสองประการ คือ 1) ความรู้ต้องสัมพันธ์กับชุมชน 2) ปัจจัยทางวัฒนธรรมสังคมและประวัติศาสตร์มีผลต่อการเรียนรู้ ดังนั้น ครูจึงมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
        4) การเรียนรู้จากการสอนแบบเอส ไอ พี การสอนแบบเอส ไอ พี เป็นรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นเพื่อฝึกทักษะทางการสอนให้กับผู้เรียนระดับอุดมศึกษา สาขาวิชาการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ และความสามารถเกี่ยวกับทักษะการสอน โดยผลที่เกิดกับผู้เรียนมีผลทางตรง คือ การมีทักษะการสอน การมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะทางการสอนและผลทางอ้อม คือ การสร้างความรู้ด้วยตนเอง ความร่วมมือในการเรียนรู้ และความพึงพอใจในการเรียนรู้ วิธีการที่ใช้ในการสอน คือ การทดลองฝึกปฏิบัติจริงอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง และเป็นระบบ โดยการสอนแบบจุลภาค มีที่ให้ผู้เรียนทุกคนมีบทบาทในการฝึกทดลองตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการฝึก ขั้นตอนการสอน คือ ขั้นความรู้ความเข้าใจ ขั้นสำรวจ วิเคราะห์และออกแบบการฝึกทักษะ ขั้นฝึกทักษะ ขั้นประเมินผล โครงสร้างทางสังคมของรูปแบบการสอนอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ ในขณะที่ผู้เรียนฝึกทดลองทักษะการสอนนั้น ผู้สอนต้องให้การช่วยเหลือสนับสนุนอย่างใกล้ชิด สิ่งที่จะทำให้การฝึกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและ
ประสิทธิผล คือ ความพร้อมของระบบสนับสนุน ได้แก่ ห้องปฏิบัติการสอน ห้องสื่อเอกสารหลักสูตรและการสอน และเครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
        5) การเรียนรู้แบบแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง (Self-Study) การเรียนรู้แบบนี้เป็นการให้ผู้เรียนศึกษาและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เช่น การจัดการเรียนการสอนแบบสืบค้น (Inquiry Instruction) การเรียนแบบค้นพบ (Discovery Learning) การเรียนแบบแก้ปัญหา (Problem Solving) การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experiential Learning) ซึ่งการเรียนการสอนแบบแสวงหาความรู้ด้วยตนเองนี้ใช้ในการเรียนรู้ทั้งที่เป็นรายบุคคล และกระบวนการกลุ่ม
        6) การเรียนรู้จากการทำงาน (Work-based Learning) การเรียนรู้แบบนี้เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมผู้เรียนให้เกิดพัฒนาการทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เนื้อหาสาระ การฝึกปฏิบัติจริง ฝึกฝนทักษะทางสังคม ทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ การพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงโดยสถาบันการศึกษามักร่วมมือกับแหล่งงานในชุมชน รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน ตั้งแต่การกำหนดวัตถุประสงค์ การกำหนดเนื้อหากิจกรรม และวิธีการประเมิน
        7) การเรียนรู้ที่เน้นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ (Research-based Learning) การเรียนรู้ที่เน้น
การวิจัยถือได้ว่าเป็นหัวใจของบัณฑิตศึกษา เพราะเป็นการเรียนที่เน้นการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนโดยตรง เป็นการพัฒนากระบวนการแสวงหาความรู้ และการทดสอบความสามารถทางการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน โดยรูปแบบการเรียนการสอนอาจแบ่งได้เป็น 4 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่ การสอนโดยใช้วิธีวิจัยเป็นวิธีสอน การสอนโดยผู้เรียนร่วมทำโครงการวิจัยกับอาจารย์หรือเป็นผู้ช่วยโครงการวิจัยของอาจารย์ การสอนโดยผู้เรียนศึกษางานวิจัยของอาจารย์และของนักวิจัยชั้นนำในศาสตร์ที่ศึกษา และการสอนโดยใช้ผลการวิจัยประกอบการสอน
        8) การเรียนรู้ที่ใช้วิธีสร้างผลงานจากการตกผลึกทางปัญญา (Crystal-Based Approach) การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบนี้ เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สร้างสรรค์ความรู้ความคิดด้วยตนเองด้วยการรวบรวม ทำความเข้าใจ สรุป วิเคราะห์ และสังเคราะห์จากการศึกษาด้วยตนเองเหมาะสำหรับบัณฑิตศึกษา เพราะผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ มีประสบการณ์เกี่ยวกับศาสตร์ที่ศึกษามาในระดับหนึ่งแล้ววิธีการเรียนรู้เริ่มจากการทำความเข้าใจกับผู้เรียนให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ตามแนวนี้ จากนั้นทำความเข้าใจในเนื้อหาและประเด็นหลัก ๆ ของรายวิชามอบหมายให้ผู้เรียนไปศึกษาวิเคราะห์เอกสาร แนวคิดตามประเด็นที่กำหนด แล้วให้ผู้เรียนพัฒนาแนวคิดในประเด็นต่าง ๆ แยกทีละประเด็น โดยให้ผู้เรียนเขียนประเด็นเหล่านั้นเป็นผลงานในลักษณะที่เป็นแนวคิดของตนเองที่ผ่านการกลั่นกรอง วิเคราะห์เจาะลึกจนตกผลึก
ทางความคิดเป็นของตนเอง จากนั้นจึงนำเสนอให้กลุ่มเพื่อนได้ช่วยวิเคราะห์ วิจารณ์อีกครั้ง

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

เป็นทฤษฎีที่สุมณฑา  พรหมบุญ  เป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญพัฒนาขึ้น  จุดเน้นของการเรียนเรียนรู้  คือ  การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางด้านจิตใจ  การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง  ได้รับการฝึกฝนทักษะชีวิตต่างๆ  การแสวงหาความรู้  การคิด  การจัดการความรู้  การแสดงออก  การสร้างความรู้ใหม่  และการทำงานกลุ่ม  ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาให้เป็นทั้งคนเก่ง  คนดี  และมีความสุข
กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  สามารถจัดทำได้ 3 วิธี คือ
1.      กระบวนการกลุ่ม(Group process)  เป็นกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มผู้เรียนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมีปฏิสัมพันธ์กัน  มีแรงจูงใจร่วมกันทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยที่สมาชิกกลุ่มมีอิทธิพลต่อกัน  หลักการสำคัญของกระบวนการกลุ่ม คือ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้  ผู้เรียนเรียนรู้จากกลุ่มมากที่สุด  ผู้เรียนได้ค้นพบและสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตนเอง  โดยครูเป็นผู้จัดกระบวนการให้ผู้เรียนแสวงหาคำตอบ  กิจกรรมที่มักจะใช้ในการจัดกิจกรรมกลุ่ม คือ  เกม  บทบาทสมมติ  กรณีตัวอย่าง  การอภิปรายกลุ่ม
2.      การเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจ(Cooperative learning)  เป็นวิธีการเรียนที่จัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนโดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม  สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และความสำเร็จของกลุ่ม  โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  แบ่งปันความรู้  ให้กำลังใจกันและกันและดูแลซึ่งกันและกัน  หลักการจัดการเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจจะคล้ายกับกระบวนการกลุ่ม  แต่ต่างกันที่การเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจจัดกลุ่มให้ผู้เรียนคละกันทั้งด้านความรู้  ความสามารถ  ความสนใจ  ความถนัด  กิจกรรมที่มักจะใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจ คือ การเล่าเรื่องรอบวง  มุมสนทนา  ปริศนาความคิด  การร่วมมือกันแข่งขันกันคิด
3.      การเรียนรู้แบบสรรค์สร้างความรู้(Constructivism)  เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องแสวงหาความรู้และสร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง  โดยนำความรู้ที่มีเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่  โดยครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนสรรค์สร้างความรู้ความเข้าใจด้วยตนเอง

ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข

เป็นทฤษฎีที่ กิติยวดี  บุญซื่อ  เป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญทำการพัฒนาขึ้น  โดยมีจุดประสงค์จะหาวิธีเรียนแบบใหม่ที่ทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนานทุกครั้ง  ทุกชั่วโมง  ผู้เรียนมาโรงเรียนด้วยความตื่นเต้นและมุ่งมั่น  อยากรู้ในสิ่งที่เขายังไม่รู้  อยากทำในสิ่งที่เขาไม่เคยทำ  อยากเป็นในสิ่งที่เขายังไม่เคยเป็น  การเรียนรู้อย่างมีความสุขมีองค์ประกอบอยู่ 6 ประการได้แก่
1. เด็กแต่ละคนได้รับการยอมรับว่า  เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีหัวใจและสมอง  มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  และมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติจากผู้ใหญ่อย่างมนุษย์คนหนึ่ง
2. ครูให้ความเมตตา จริงใจ และอ่อนโยนต่อเด็กทุกคนโดยทั่วถึง  เอาใจใส่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน  มีความยุติธรรม  สม่ำเสมอ  อารมณ์มั่นคง  สดชื่นแจ่มใจ  วางตนเป็นแบบอย่างที่ดี  เสียสละและอดทน
3. เด็กเกิดความรัก  และภูมิใจในตนเอง  รู้จักปรับตัวได้ทุกที่ทุกเวลา  เห็นคุณค่าของชีวิตและความเป็นมนุษย์ของตน  ยอมรับจุดดี จุดด้อยของตน  รู้วิธีปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆโดยไม่เสียสุขภาพจิต
4. เด็กแต่ละคนมีโอกาสเลือกเรียนตามความถนัด และความสนใจ
5. บทเรียนสนุก  แปลกใหม่  จูงใจให้ติดตามและเร้าใจให้อยากค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองในสิ่งที่สนใจ  การเรียนไม่ขีดวงจำกัดอยู่ภายในห้องเรียน  การเรียนสัมพันธ์กับวิถีชีวิต
6. สิ่งที่เรียนรู้สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เกิดประโยชน์และเกิดความหมายต่อตัวเขา
การจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้การเรียนรู้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีความสุขร่วมกันทั้งผู้เรียนและผู้สอน  ควรมีลักษณะดังนี้
1. บทเรียนเริ่มต้นจากง่ายไปหายาก
2. วิธีเรียนสนุก  ไม่น่าเบื่อ
3. ทุกขั้นตอนของการเรียนรู้มุ่งพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการคิดในแนวต่าง ๆ
4. มีกิจกรรมหลากหลาย สนุกชวนให้ผู้เรียนสนใจบทเรียน  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม
5. แนวการเรียนรู้สัมพันธ์และสอดคล้องกับธรรมชาติ
6. สื่อที่ใช้ประกอบการสอนเร้าใจให้เกิดการเรียนรู้
7. การประเมินผลเน้นพัฒนาการของผู้เรียนในภาพรวมมากกว่าผลเรียนทางวิชาการ  และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนประเมินตนเองด้วย

การเรียนรู้โดยชี้นำตนเอง (Self-directed learning, SDL.)

Knowles (1975:18) ให้ความหมายของการเรียนรู้แบบชี้นำตนเองว่า เป็นกระบวนการที่บุคคลคิดริเริ่มเอง ในการวินิจฉัยความต้องการในการเรียนรู้  กำหนดจุดมุ่งหมาย เลือกวิธีการเรียนจนถึงการประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้  ทั้งนี้โดยได้รับหรือไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่นก็ตาม
Knowles (1975)  ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง  สรุปได้ดังนี้
1.       ผู้ที่เริ่มเรียนรู้ด้วยตนเอง จะเรียนรู้ได้มากกว่าและดีกว่าผู้ที่รอรับจากผู้อื่น ผู้เรียนที่เรียนรู้โดยชี้นำตนเองจะเรียนอย่างตั้งใจ อย่างมีจุดมุ่งหมายและอย่างมีแรงจูงใจสูง นอกจากนั้นยังใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ได้ดีกว่าและยาวนานกว่าผู้ที่รอรับความรู้
2.       การเรียนรู้โดยชี้นำตนเอง สอดคล้องกับการจิตวิทยาพัฒนาการ กล่าวคือ เด็กตามธรรมชาติต้องพึ่งพิงผู้อื่นและต้องการผู้ปกครองปกป้องเลี้ยงดูและตัดสินใจแทน เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็พัฒนาขึ้นให้มีความอิสระ พึ่งพิงจากภายนอกลดลง และเป็นตัวเองจนมีคุณลักษณะการชี้นำตนเอง
3.       นวัตกรรมใหม่  รูปแบบของกิจกรรมการศึกษาใหม่  เช่น  ห้องเรียนแบบเปิดศูนย์การเรียนรู้  independent  study  เป็นต้น  เป็นรูปแบบของกิจกรรมการศึกษาที่เพิ่มบทบาทของผู้เรียน  ให้ผู้เรียนรับผิดชอบกระบวนการเรียนรู้ของตนเองเพิ่มมากขึ้น  ในลักษณะเรียนรู้โดยชี้นำตนเองเพิ่มมากขึ้น
4.       การเรียนรู้โดยชี้นำตนเองเป็นลักษณะการเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ตามสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและทวีความรวดเร็วมากขึ้น  ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี  การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิตของมนุษย์โลก
Brockett&Hiemstra (1991)  สรุปประเด็นที่อาจยังมีผู้เข้าใจผิดพลาด  เกี่ยวกับแนวคิดการเรียนรู้โดยชี้นำตนเอง  ดังนี้
1.       การชี้นำตนเองเป็นคุณลักษณะที่มีอยู่ในทุกคน  เพียงแต่จะมีมากหรือน้อยเท่านั้น  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเรียนรู้
2.       บทบาทของผู้เรียน  คือมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้เป็นหลักใหญ่และเป็นผู้ที่ตัดสินใจวางแผนและเลือกประสบการณ์การเรียนรู้  การดำเนินการตามแผนการประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้  ทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นตามลำพัง  หรือเกิดในกลุ่มผู้เรียนกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ที่ผู้เรียนจะร่วมรับผิดชอบในการเรียนรู้ของเขา
3.       คำว่าการชี้นำตนเองในการเรียนรู้  หรือการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง  จะเน้นความรับผิดชอบของผู้เรียน  และเชื่อในศักยภาพที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ (never-ending potential of human)
4.       การชี้นำตนเองในการเรียนรู้  ก่อให้เกิดผลด้านบวกของการเรียนรู้  ตัวอย่างเช่น  ผู้เรียนจดจำได้มากขึ้น  เกิดความสนใจในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสนใจในเนื้อหามากขึ้น  มีทัศนคติที่เป็นบวกต่อผู้สอนมากขึ้น  มั่นใจในความสามารถเรียนรู้ได้ของตนเองมากขึ้น
5.       กิจกรรมการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองมีหลากหลายรู้แบบ  เช่น  การอ่าน  การเขียน  การเสาะหาความรู้โดยการสัมภาษณ์  การศึกษาเป็นกลุ่ม  ทัศนศึกษา  การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้สอน  การหาความรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์  หรือแม้กระทั่งการเรียนจากสื่อ  เช่น  ชุดการเรียน  โปรแกรมการเรียน  โปรแกรมการเรียนของคอมพิวเตอร์  รวมทั้งสื่อช่วยการเรียนรู้ในรูปอื่น ๆ
6.       ในการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองที่ประสบผลสำเร็จ  ผู้อำนวยความสะดวกจะต้องมีบทบาทในการร่วมปรึกษา  แลกเปลี่ยนความคิด  เป็นแหล่งความรู้ตามที่ผู้เรียนต้องการ  มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้เรียน  มีส่วนร่วมในการถ่ายโอนบทบาทการเรียนการสอนและสนับสนุนให้ผู้เรียนคิดอย่างแตกฉาน (critical thinking)
7.       การชี้นำตนเองเป็นสิ่งที่มีคุณค่า  เป็นวิธีที่ผู้เรียนมีอิสระในการแก้ปัญหา  ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น
8.       การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองสามารถเกิดขึ้นได้ในประชาชนทุกหมู่เหล่า  ไม่จำกัดพียงกลุ่มใด  เชื้อชาติใดเท่านั้น
9.       หากผู้สอนให้ความไว้วางใจแก่ผู้เรียน  ผู้เรียนส่วนใหญ่จะเรียนรู้อย่างเต็มที่และทุ่มเทในการเรียนรุ้เพื่อคุณภาพ
10.   การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง  ไม่สามารถแก้ปัญหาในการเรียนรู้ได้ทุกปัญหา  ในบางกรณีอาจมีข้อจำกัดบ้าง  เช่น  ในบางสังคมและวัฒนธรรม
องค์ประกอบของการเรียนรู้โดยชี้นำตนเอง
Ralph G. Brockett and Roger Hiemstra ได้เสนอองค์ประกอบเพื่อความเข้าในในกรอบแนวคิดของการชี้นำตนเองในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Self-Direction in Adult Learning) โดยเรียนว่า The PRO Model : The Personal Responsibility Orientation โดยมีรายละเอียดดังนี้
The Personal Responsibility Orientation : (PRO) Model
1.       ความรับผิดชอบในตัวบุคคล (personal responsibility) หมายถึง การกระตุ้นเพื่อให้เกิดความตระหนักในความจะเป็นที่จะต้องมีการเรียนรู้  และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบในตนเองในการที่จะตัดสินใจเรียนรู้ การวางแผนการเรียนรู้  การดำเนินงาน  และการประเมินตนเองในการเรียนรู้
2.       ผู้เรียนที่มีลักษณะชี้นำตนเอง (learner self-direction) หมายถึงคุณลักษณะเฉพาะตัว  หรือบุคลิกภาพของผู้เรียนที่เอื้อและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง  ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดจากภายในตัวของผู้เรียนเอง
3.       การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง (self-directed learning) หมายถึง  กิจกรรมที่เกิดขึ้นในการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง  ซึ่งอาจเกิดจากการจัดการของผู้สอน  หรือการวางแผนการเรียนรู้ของผู้เรียนเอง  แต่ความสำคัญของผู้สอนนั้นจะเป็นเพียงผู้คอยช่วยเหลือ  เสนอแนะ  แนะนำ  หรืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เท่านั้น  ส่วนการดำเนินกิจกรรมการเรียนทั้งหมดนั้นจะเป็นการดำเนินการโดยผู้เรียนทั้งสิ้น
4.       ปัจจัยแวดล้อมทางสังคม (The Social Context) หมายถึง  การคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมของผู้เรียนซึ่งผู้เรียนยังคงสภาพความเป็นอยู่จริงในสังคม  เช่น  สภาพครอบครัว  การทำงาน  สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
กระบวนการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง
Knowles (1975)  ได้อธิบายถึงกระบวนการของการชี้นำตนเอง (self-direction)  ว่าประกอบด้วย
1.       เกิดจากความริเริ่มในตัวของบุคคลโดยจะมีความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือไม่ก็ตาม
2.       วิเคราะห์ความต้องการในการเรียนรู้
3.       คิดวิธีการในการเรียนรู้เพื่อไปยังจุดมุ่งหมาย
4.       เลือกแหล่งทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้
5.       เลือกและดำเนินการตามวิธีการและยุทธศาสตร์ในการเรียนรู้
6.       ทำการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
รูปแบบการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง
กริฟฟิน (Griffin, 1983: 153)  ได้แบ่งรูปแบบการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองออกเป็น 5 รูปแบบดังนี้
1.       รูปแบบการเรียนรู้โดยใช้สัญญาการเรียนรู้ (learning contract)  เป็นเครื่องในการเรียนด้วยตนเองตามแนวความคิดการเรียนเป็นกลุ่มของโนลส์ (the Knowles group learning stream)
2.       รูปแบบการใช้โครงการเรียนรู้ (learning project)  เป็นตัวบ่งชี้การมีส่วนในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองตามแนวคิดโครงการเรียนแบบผู้ใหญ่ของทัฟ (the Tough adult learning project stream)
3.       รูปแบบการใช้บทเรียนสำเร็จรูป (individualized program instruction)  ตามแนวคิดของสกินเนอร์ (Skinner)  แต่เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการนำของครู (teacher-directed learning)
4.       รูปแบบที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนทั่วไป (non-traditional institutional) ได้แก่กลุ่มผู้เรียนที่เรียนโดยสมัครใจ หวังที่จะได้ความรู้  เช่น การศึกษาที่จัดขั้นสำหรับบุคคลภายนอกให้ได้รัยประกาศนียบัตร การศึกษาที่เป็นหน่วยประสบการณ์ชีวิต เป็นต้น
5.       รูปแบบการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต (experiential learning)
เบาวด์ (Boud, 1982: 12) ได้สรุปรูปแบบการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองไว้ว่ามี  5 รูปแบบดังนี้
1.       การเรียนรู้แบบใช้สัญญาการเรียนรู้ (learning contracts) การเรียนแบบนี้ผู้เรียนวางแผนโดยเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งวิธีการวัดประเมินผลซึ่งจะมีการตรวจสอบความถูกต้องของผลงานกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในสัญญาจากผู้ร่วมงาน
2.       การเรียนแบบการทำงานตัวต่อตัว (one-to-one learning) การเรียนแบบนี้ผู้เรียนทำงานเป็นคู่ช่วยอำนวยความสะดวกซึ่งกันและกันในการทำงาน
3.       การเรียนแบบวางแผนการทำงานโดยผู้เรียน (student planned courses) การเรียนแบบนี้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มในการริเริ่มโครงการและนำสู่การปฏิบัติ
4.       การเรียนแบบมีระบบสนับสนุนจากเพื่อน (peer support systems) การเรียนแบบนี้ผู้เรียนที่เริ่มใหม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เรียนที่มีประสบการณ์มากกว่า
5.       การเรียนแบบร่วมมือกันประเมิน (collaborative assessment) การเรียนแบบนี้ผู้เรียนร่วมมือกันกำหนดเกณฑ์ในการประเมิน และตัดสินผู้เรียนด้วยกัน
โกรว์ (Grow, 1991: 144-145)  เสนอรูปแบบการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองตามขั้นตอน (staged self-directed learning model: SSDL)  ไว้โดยมีขั้นตอน  4 ขั้น  ได้แก่
1.       ครูนำโดยการชักจูง  อธิบาย หรือให้ลองฝึกหัด
2.       ครูจูงใจให้ผู้เรียนสนใจโดยการบรรยาย  การอภิปรายโดยครูเป็นผู้นำ  ให้ตั้งเป้าหมายและกำหนดกลยุทธวิธีการเรียน
3.       นักเรียนเรียนโดยครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียน  อภิปรายกลุ่ม  หรือจัดสัมมนา
4.       นักเรียนชี้นำตนเองโดยครูเป็นที่ปรึกษา  ทำได้โดยการลองฝึกด้วยตนเอง  เช่น  การฝึกงาน  การค้นคว้า  การทำงานรายบุคคล  หรืองานกลุ่ม

ที่มา : http://www.pochanukul.com/?p=40

ทักษะการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ

การเรียนวิชาภาษาอังกฤษซึ่งเป็นวิชาทักษะนั้น นักศึกษาต้องใช้ความมานะพยายาม และความอดทน หลักการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษให้ได้ผลนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะความสำเร็จในการเรียนวิชาภาษา ซึ่งเป็นวิชาทักษะนั้น อาศัยทั้งความเข้าใจและการฝึกฝนทบทวนบ่อย ๆ อยากทราบว่าตนเองยังมีพื้นฐานภาษาอังกฤษค่อนข้างน้อย ก็ควรที่จะเพิ่มพูนทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้มากขึ้น
ทักษะการฟัง มีพฤติกรรมการฟังอยู่ 5 ระดับ คือ
1. ขั้นรับรู้
ฝึกสังเกตความแตกต่างของภาษาเกี่ยวกับเสียง คำ การเน้น และระดับเสียงขึ้น-ลงของข้อความ
2. ขั้นระลึก
สามารถที่จะเข้าใจความหมายของข้อความสั้น ๆ ที่ได้ยิน
3. ขั้นรับความคิด
สามารถที่จะเข้าใจสัญลักษณ์ทางไวยากรณ์ คำศัพท์ ประโยคและบทความสั้น ๆ
4. ขั้นเข้าใจ
สามารถเข้าใจคำอธิบาย รู้จักจับความของข้อความที่ได้ยิน แม้ว่าจะมีคำที่ไม่รู้ความหมายอยู่ด้วยก็ตามสามารถฟัง และเข้าใจข้อความที่ผู้พูดพูดออกมาอย่างรวดเร็วได้
5. ขั้นวิเคราะห์
สามารถแยกแยะได้ว่าข้อความที่ได้ยินว่า เป็นภาษามาตรฐานหรือไม่ รูปประโยคถูกต้องหรือไม่ เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และความมุ่งหมายของผู้พูดจากน้ำเสียง และถ้อยคำที่เน้น สามารถประเมินได้ว่าถ้อยคำที่เน้นนั้นสื่อสารความคิดได้อย่างเหมาะสมหรือไม่
ในปัจจุบัน มีสื่อต่าง ๆ ที่ช่วยนักศึกษาพัฒนาทักษะการฟังอยู่มากมาย เช่น รายการโทรทัศน์ประเภทสารคดีภาษาอังกฤษ จะมีบทสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ บางรายการอาจมีคำแปลภาษาไทยกำกับด้วย รายการวิทยุภาคภาษาอังกฤษ ภาพยนตร์ หรือเพลง ก็ช่วยได้มาก ถ้านักศึกษาให้ความสนใจและใส่ใจอย่างจริงจัง
ทักษะการพูด
เป็นพฤติกรรมทางด้านการแสดงออก เนื่องจากคนไทยมิใช่ชนชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ทักษะการพูดภาษาอังกฤษจึงอาจเป็นทักษะที่ดูเหมือนค่อนข้างจะยาก ในด้านของการออกเสียงหรือสำเนียงให้ถูกต้อง แต่หากผู้เรียนมีความพากเพียรพยายามหมั่นฝึกฝนบ่อย ๆ ก็อาจสามารถทำได้ดีเช่นเดียวกัน แต่ถึงแม้ว่าจะออกเสียงผิดเพี้ยนไปบ้าง ผู้เรียนก็ควรให้ความสำคัญต่อการพยายามสื่อสารให้ได้ความหมายมากที่สุด องค์ประกอบสำคัญ นอกจากเสียงหรือสำเนียงแล้ว ได้แก่ ศัพท์ ไวยากรณ์ ระเบียบวิธีของความสัมพันธ์ระหว่างประโยค ตลอดจนการใช้กริยา ท่าทาง ประกอบในการสื่อสาร
นักศึกษาสามารถที่จะทดลองฝึกพูดตามเทปเสียง ประจำชุดวิชา หรือทดลองอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และให้ผู้ใกล้ชิดที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอสมควร ฟัง และวิจารณ์ปัญหาสำคัญโดยทั่วไปของคนไทยที่ด้อยทักษะทางการพูดมักเนื่องมาจากการขาดโอกาสที่จะพูดภาษาอังกฤษทั้งสิ้น
ทักษะการอ่าน
ในเอกสารการสอนของนักศึกษา จะให้แนวทางของการเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่านไว้ค่อนข้างมาก จึงขอเน้นในประเด็นต่อไปนี้
ประสิทธิภาพในการอ่านจะดีขึ้นเมื่อ
1. มีความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มากขึ้น มีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้คำ มีความชำนาญในการใช้คำต่าง ๆ เช่น คำนาม กริยาเปลี่ยนรูป วิเศษณ์ บุพบท ฯลฯ
2. มีความเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของประโยค และไวยากรณ์ อย่างถูกต้อง
3. มีความเข้าใจเรื่องราวที่อ่านอย่างชัดเจน สามารถเข้าใจโครงสร้างของบทความ รู้ตำแหน่งสำคัญของประโยคต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเรื่องราว ซึ่งได้มาจากการเข้าใจความหมายตามตัวอักษร และความสามารถที่จะติดตามเรื่องที่อ่านอย่างมีลำดับ สามารถที่จะเข้าใจความหมายที่แฝงอยู่ของข้อความที่อ่าน
ทักษะการอ่านนี้คงต้องเริ่มจากการอ่านหนังสือที่มีรูปประโยคง่าย ๆ และศัพท์ ง่าย ๆ ก่อน เมื่อเข้าใจดีขึ้นก็เพิ่มความยากของศัพท์ให้มากขึ้น และประโยคที่มีโครงสร้างซับซ้อนขึ้น หากนักศึกษาไม่แน่ใจในทักษะภาษาอังกฤษของตนเอง นักศึกษาอาจนำหนังสือประกอบการเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษามาทดสอบการอ่านดู หากสามารถอ่านผ่านมาได้ ตอบคำถามต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ทักษะพื้นฐานของนักศึกษาก็ควรจะอยู่ในระดับที่สามารถจะศึกษาชุดวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานได้ เพราะชุดวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานเป็นชุดวิชาภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา ที่มีเนื้อหาในลำดับที่สูงขึ้นจากภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษานั้นเอง
ทักษะการเขียน
ทักษะการเขียน เป็นทักษะที่ต้องผ่านกระบวนการทางความคิดหลายขั้นตอน ตั้งแต่การรวบรวมความคิด การลำดับเรื่อง และเลือกสรรถ้อยคำในการถ่ายทอดออกมาเป็นข้อความที่สามารถสื่อความหมายได้ตรงความต้องการ
ทักษะการเขียนจะต้องอาศัยความเข้าใจโครงสร้างภาษาอย่างถูกต้อง รู้ศัพท์ สำนวน รูปแบบ ประโยค ไวยากรณ์ และเช่นเดียวกับทักษะอื่น ๆ ผู้เรียนจะต้องหมั่นฝึกฝนและหัดเขียนอยู่เสมอ นอกจากนั้นการเขียนและการอ่านเป็นทักษะที่เชื่อมโยงกัน หากผู้เรียนมีประสบการณ์ในการอ่านมาก ก็จะได้เห็นรูปแบบวิธีเขียน แนวคิดในการสื่อสารของผู้เขียน ซึ่งจะช่วยทำให้มีแบบอย่างสำหรับการเขียน สำหรับตนเองมากขึ้นด้วย
สำหรับนักศึกษานั้นควรจะหาโอกาสไปเข้ารับการสอนเสริม เพื่อที่จะมีโอกาสได้สนทนา ซักถามอาจารย์ผู้สอนโดยตรง อย่างไรก็ตามการศึกษาด้วยตนเองโดยไม่มีชั้นเรียนปกตินั้น นักศึกษาต้องดูแลตนเองให้มีวินัยในการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนวิชาภาษานั้นจะต้องฝึกฝนเป็นประจำ สม่ำเสมอ หากไม่ท้อถอยในการเรียนเสียก่อน ความสำเร็จในการศึกษาต้องเป็นของนักศึกษาอย่างแน่นอน

ที่มา : http://www.stou.ac.th/Offices/Oes/OesPage/Guide/article/n8.html