วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข

เป็นทฤษฎีที่ กิติยวดี  บุญซื่อ  เป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญทำการพัฒนาขึ้น  โดยมีจุดประสงค์จะหาวิธีเรียนแบบใหม่ที่ทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนานทุกครั้ง  ทุกชั่วโมง  ผู้เรียนมาโรงเรียนด้วยความตื่นเต้นและมุ่งมั่น  อยากรู้ในสิ่งที่เขายังไม่รู้  อยากทำในสิ่งที่เขาไม่เคยทำ  อยากเป็นในสิ่งที่เขายังไม่เคยเป็น  การเรียนรู้อย่างมีความสุขมีองค์ประกอบอยู่ 6 ประการได้แก่
1. เด็กแต่ละคนได้รับการยอมรับว่า  เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีหัวใจและสมอง  มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  และมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติจากผู้ใหญ่อย่างมนุษย์คนหนึ่ง
2. ครูให้ความเมตตา จริงใจ และอ่อนโยนต่อเด็กทุกคนโดยทั่วถึง  เอาใจใส่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน  มีความยุติธรรม  สม่ำเสมอ  อารมณ์มั่นคง  สดชื่นแจ่มใจ  วางตนเป็นแบบอย่างที่ดี  เสียสละและอดทน
3. เด็กเกิดความรัก  และภูมิใจในตนเอง  รู้จักปรับตัวได้ทุกที่ทุกเวลา  เห็นคุณค่าของชีวิตและความเป็นมนุษย์ของตน  ยอมรับจุดดี จุดด้อยของตน  รู้วิธีปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆโดยไม่เสียสุขภาพจิต
4. เด็กแต่ละคนมีโอกาสเลือกเรียนตามความถนัด และความสนใจ
5. บทเรียนสนุก  แปลกใหม่  จูงใจให้ติดตามและเร้าใจให้อยากค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองในสิ่งที่สนใจ  การเรียนไม่ขีดวงจำกัดอยู่ภายในห้องเรียน  การเรียนสัมพันธ์กับวิถีชีวิต
6. สิ่งที่เรียนรู้สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เกิดประโยชน์และเกิดความหมายต่อตัวเขา
การจัดการเรียนการสอนที่จะทำให้การเรียนรู้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีความสุขร่วมกันทั้งผู้เรียนและผู้สอน  ควรมีลักษณะดังนี้
1. บทเรียนเริ่มต้นจากง่ายไปหายาก
2. วิธีเรียนสนุก  ไม่น่าเบื่อ
3. ทุกขั้นตอนของการเรียนรู้มุ่งพัฒนาและส่งเสริมกระบวนการคิดในแนวต่าง ๆ
4. มีกิจกรรมหลากหลาย สนุกชวนให้ผู้เรียนสนใจบทเรียน  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม
5. แนวการเรียนรู้สัมพันธ์และสอดคล้องกับธรรมชาติ
6. สื่อที่ใช้ประกอบการสอนเร้าใจให้เกิดการเรียนรู้
7. การประเมินผลเน้นพัฒนาการของผู้เรียนในภาพรวมมากกว่าผลเรียนทางวิชาการ  และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนประเมินตนเองด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น