วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การเรียนรู้โดยชี้นำตนเอง (Self-directed learning, SDL.)

Knowles (1975:18) ให้ความหมายของการเรียนรู้แบบชี้นำตนเองว่า เป็นกระบวนการที่บุคคลคิดริเริ่มเอง ในการวินิจฉัยความต้องการในการเรียนรู้  กำหนดจุดมุ่งหมาย เลือกวิธีการเรียนจนถึงการประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้  ทั้งนี้โดยได้รับหรือไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่นก็ตาม
Knowles (1975)  ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง  สรุปได้ดังนี้
1.       ผู้ที่เริ่มเรียนรู้ด้วยตนเอง จะเรียนรู้ได้มากกว่าและดีกว่าผู้ที่รอรับจากผู้อื่น ผู้เรียนที่เรียนรู้โดยชี้นำตนเองจะเรียนอย่างตั้งใจ อย่างมีจุดมุ่งหมายและอย่างมีแรงจูงใจสูง นอกจากนั้นยังใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ได้ดีกว่าและยาวนานกว่าผู้ที่รอรับความรู้
2.       การเรียนรู้โดยชี้นำตนเอง สอดคล้องกับการจิตวิทยาพัฒนาการ กล่าวคือ เด็กตามธรรมชาติต้องพึ่งพิงผู้อื่นและต้องการผู้ปกครองปกป้องเลี้ยงดูและตัดสินใจแทน เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็พัฒนาขึ้นให้มีความอิสระ พึ่งพิงจากภายนอกลดลง และเป็นตัวเองจนมีคุณลักษณะการชี้นำตนเอง
3.       นวัตกรรมใหม่  รูปแบบของกิจกรรมการศึกษาใหม่  เช่น  ห้องเรียนแบบเปิดศูนย์การเรียนรู้  independent  study  เป็นต้น  เป็นรูปแบบของกิจกรรมการศึกษาที่เพิ่มบทบาทของผู้เรียน  ให้ผู้เรียนรับผิดชอบกระบวนการเรียนรู้ของตนเองเพิ่มมากขึ้น  ในลักษณะเรียนรู้โดยชี้นำตนเองเพิ่มมากขึ้น
4.       การเรียนรู้โดยชี้นำตนเองเป็นลักษณะการเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ตามสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและทวีความรวดเร็วมากขึ้น  ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี  การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองเป็นกระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิตของมนุษย์โลก
Brockett&Hiemstra (1991)  สรุปประเด็นที่อาจยังมีผู้เข้าใจผิดพลาด  เกี่ยวกับแนวคิดการเรียนรู้โดยชี้นำตนเอง  ดังนี้
1.       การชี้นำตนเองเป็นคุณลักษณะที่มีอยู่ในทุกคน  เพียงแต่จะมีมากหรือน้อยเท่านั้น  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเรียนรู้
2.       บทบาทของผู้เรียน  คือมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้เป็นหลักใหญ่และเป็นผู้ที่ตัดสินใจวางแผนและเลือกประสบการณ์การเรียนรู้  การดำเนินการตามแผนการประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้  ทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นตามลำพัง  หรือเกิดในกลุ่มผู้เรียนกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ที่ผู้เรียนจะร่วมรับผิดชอบในการเรียนรู้ของเขา
3.       คำว่าการชี้นำตนเองในการเรียนรู้  หรือการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง  จะเน้นความรับผิดชอบของผู้เรียน  และเชื่อในศักยภาพที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ (never-ending potential of human)
4.       การชี้นำตนเองในการเรียนรู้  ก่อให้เกิดผลด้านบวกของการเรียนรู้  ตัวอย่างเช่น  ผู้เรียนจดจำได้มากขึ้น  เกิดความสนใจในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสนใจในเนื้อหามากขึ้น  มีทัศนคติที่เป็นบวกต่อผู้สอนมากขึ้น  มั่นใจในความสามารถเรียนรู้ได้ของตนเองมากขึ้น
5.       กิจกรรมการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองมีหลากหลายรู้แบบ  เช่น  การอ่าน  การเขียน  การเสาะหาความรู้โดยการสัมภาษณ์  การศึกษาเป็นกลุ่ม  ทัศนศึกษา  การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้สอน  การหาความรู้โดยใช้คอมพิวเตอร์  หรือแม้กระทั่งการเรียนจากสื่อ  เช่น  ชุดการเรียน  โปรแกรมการเรียน  โปรแกรมการเรียนของคอมพิวเตอร์  รวมทั้งสื่อช่วยการเรียนรู้ในรูปอื่น ๆ
6.       ในการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองที่ประสบผลสำเร็จ  ผู้อำนวยความสะดวกจะต้องมีบทบาทในการร่วมปรึกษา  แลกเปลี่ยนความคิด  เป็นแหล่งความรู้ตามที่ผู้เรียนต้องการ  มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้เรียน  มีส่วนร่วมในการถ่ายโอนบทบาทการเรียนการสอนและสนับสนุนให้ผู้เรียนคิดอย่างแตกฉาน (critical thinking)
7.       การชี้นำตนเองเป็นสิ่งที่มีคุณค่า  เป็นวิธีที่ผู้เรียนมีอิสระในการแก้ปัญหา  ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น
8.       การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองสามารถเกิดขึ้นได้ในประชาชนทุกหมู่เหล่า  ไม่จำกัดพียงกลุ่มใด  เชื้อชาติใดเท่านั้น
9.       หากผู้สอนให้ความไว้วางใจแก่ผู้เรียน  ผู้เรียนส่วนใหญ่จะเรียนรู้อย่างเต็มที่และทุ่มเทในการเรียนรุ้เพื่อคุณภาพ
10.   การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง  ไม่สามารถแก้ปัญหาในการเรียนรู้ได้ทุกปัญหา  ในบางกรณีอาจมีข้อจำกัดบ้าง  เช่น  ในบางสังคมและวัฒนธรรม
องค์ประกอบของการเรียนรู้โดยชี้นำตนเอง
Ralph G. Brockett and Roger Hiemstra ได้เสนอองค์ประกอบเพื่อความเข้าในในกรอบแนวคิดของการชี้นำตนเองในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Self-Direction in Adult Learning) โดยเรียนว่า The PRO Model : The Personal Responsibility Orientation โดยมีรายละเอียดดังนี้
The Personal Responsibility Orientation : (PRO) Model
1.       ความรับผิดชอบในตัวบุคคล (personal responsibility) หมายถึง การกระตุ้นเพื่อให้เกิดความตระหนักในความจะเป็นที่จะต้องมีการเรียนรู้  และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบในตนเองในการที่จะตัดสินใจเรียนรู้ การวางแผนการเรียนรู้  การดำเนินงาน  และการประเมินตนเองในการเรียนรู้
2.       ผู้เรียนที่มีลักษณะชี้นำตนเอง (learner self-direction) หมายถึงคุณลักษณะเฉพาะตัว  หรือบุคลิกภาพของผู้เรียนที่เอื้อและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง  ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดจากภายในตัวของผู้เรียนเอง
3.       การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง (self-directed learning) หมายถึง  กิจกรรมที่เกิดขึ้นในการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง  ซึ่งอาจเกิดจากการจัดการของผู้สอน  หรือการวางแผนการเรียนรู้ของผู้เรียนเอง  แต่ความสำคัญของผู้สอนนั้นจะเป็นเพียงผู้คอยช่วยเหลือ  เสนอแนะ  แนะนำ  หรืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เท่านั้น  ส่วนการดำเนินกิจกรรมการเรียนทั้งหมดนั้นจะเป็นการดำเนินการโดยผู้เรียนทั้งสิ้น
4.       ปัจจัยแวดล้อมทางสังคม (The Social Context) หมายถึง  การคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางสังคมของผู้เรียนซึ่งผู้เรียนยังคงสภาพความเป็นอยู่จริงในสังคม  เช่น  สภาพครอบครัว  การทำงาน  สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
กระบวนการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง
Knowles (1975)  ได้อธิบายถึงกระบวนการของการชี้นำตนเอง (self-direction)  ว่าประกอบด้วย
1.       เกิดจากความริเริ่มในตัวของบุคคลโดยจะมีความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือไม่ก็ตาม
2.       วิเคราะห์ความต้องการในการเรียนรู้
3.       คิดวิธีการในการเรียนรู้เพื่อไปยังจุดมุ่งหมาย
4.       เลือกแหล่งทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้
5.       เลือกและดำเนินการตามวิธีการและยุทธศาสตร์ในการเรียนรู้
6.       ทำการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
รูปแบบการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง
กริฟฟิน (Griffin, 1983: 153)  ได้แบ่งรูปแบบการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองออกเป็น 5 รูปแบบดังนี้
1.       รูปแบบการเรียนรู้โดยใช้สัญญาการเรียนรู้ (learning contract)  เป็นเครื่องในการเรียนด้วยตนเองตามแนวความคิดการเรียนเป็นกลุ่มของโนลส์ (the Knowles group learning stream)
2.       รูปแบบการใช้โครงการเรียนรู้ (learning project)  เป็นตัวบ่งชี้การมีส่วนในการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองตามแนวคิดโครงการเรียนแบบผู้ใหญ่ของทัฟ (the Tough adult learning project stream)
3.       รูปแบบการใช้บทเรียนสำเร็จรูป (individualized program instruction)  ตามแนวคิดของสกินเนอร์ (Skinner)  แต่เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการนำของครู (teacher-directed learning)
4.       รูปแบบที่ไม่ใช่การจัดการเรียนการสอนทั่วไป (non-traditional institutional) ได้แก่กลุ่มผู้เรียนที่เรียนโดยสมัครใจ หวังที่จะได้ความรู้  เช่น การศึกษาที่จัดขั้นสำหรับบุคคลภายนอกให้ได้รัยประกาศนียบัตร การศึกษาที่เป็นหน่วยประสบการณ์ชีวิต เป็นต้น
5.       รูปแบบการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต (experiential learning)
เบาวด์ (Boud, 1982: 12) ได้สรุปรูปแบบการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองไว้ว่ามี  5 รูปแบบดังนี้
1.       การเรียนรู้แบบใช้สัญญาการเรียนรู้ (learning contracts) การเรียนแบบนี้ผู้เรียนวางแผนโดยเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งวิธีการวัดประเมินผลซึ่งจะมีการตรวจสอบความถูกต้องของผลงานกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในสัญญาจากผู้ร่วมงาน
2.       การเรียนแบบการทำงานตัวต่อตัว (one-to-one learning) การเรียนแบบนี้ผู้เรียนทำงานเป็นคู่ช่วยอำนวยความสะดวกซึ่งกันและกันในการทำงาน
3.       การเรียนแบบวางแผนการทำงานโดยผู้เรียน (student planned courses) การเรียนแบบนี้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มในการริเริ่มโครงการและนำสู่การปฏิบัติ
4.       การเรียนแบบมีระบบสนับสนุนจากเพื่อน (peer support systems) การเรียนแบบนี้ผู้เรียนที่เริ่มใหม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เรียนที่มีประสบการณ์มากกว่า
5.       การเรียนแบบร่วมมือกันประเมิน (collaborative assessment) การเรียนแบบนี้ผู้เรียนร่วมมือกันกำหนดเกณฑ์ในการประเมิน และตัดสินผู้เรียนด้วยกัน
โกรว์ (Grow, 1991: 144-145)  เสนอรูปแบบการเรียนรู้โดยการชี้นำตนเองตามขั้นตอน (staged self-directed learning model: SSDL)  ไว้โดยมีขั้นตอน  4 ขั้น  ได้แก่
1.       ครูนำโดยการชักจูง  อธิบาย หรือให้ลองฝึกหัด
2.       ครูจูงใจให้ผู้เรียนสนใจโดยการบรรยาย  การอภิปรายโดยครูเป็นผู้นำ  ให้ตั้งเป้าหมายและกำหนดกลยุทธวิธีการเรียน
3.       นักเรียนเรียนโดยครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียน  อภิปรายกลุ่ม  หรือจัดสัมมนา
4.       นักเรียนชี้นำตนเองโดยครูเป็นที่ปรึกษา  ทำได้โดยการลองฝึกด้วยตนเอง  เช่น  การฝึกงาน  การค้นคว้า  การทำงานรายบุคคล  หรืองานกลุ่ม

ที่มา : http://www.pochanukul.com/?p=40

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น